google.com, pub-1439861366638942, DIRECT, f08c47fec0942fa0 Ratchaphakdi Park : Auttayan Ratchapak : อุทยานราชภักดิ์ หัวหิน
dot dot
Ratchaphakdi Park : Auttayan Ratchapak : อุทยานราชภักดิ์ หัวหิน

HuaHin Tourist attraction, Thailand

Ratchaphakdi Park : Auttayan Ratchapak
อุทยานราชภักดิ์ หัวหิน
 
ความเป็นมาของอุทยานราชภักดิ์
 
เนื่องด้วย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้กองทัพบกจัดสร้าง "พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระบูรพกษัตริย์แห่งสยาม" พร้อมจัดสร้างอุทยานประวัติศาสตร์  โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานชื่อว่า “อุทยานราชภักดิ์" ซึ่งเป็นอุทยานที่สร้างขึ้นด้วยความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และเพื่อเป็นการเทิดทูนและประกาศเกียรติคุณสมเด็จพระมหากษัตริย์แห่งสยาม 7 พระองค์ ได้แก่
 
 
 
1. พ่อขุนรามคำแหง (สมัยกรุงสุโขทัย)
2. สมเด็จพระนเรศวร (สมัยกรุงศรีอยุธยา)
3. สมเด็จพระนารายณ์ (สมัยกรุงศรีอยุธยา)
4. สมเด็จพระเจ้าตากสิน (สมัยกรุงธนบุรี)
5. พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์)
6. พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์)
7. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์)
 
ซึ่งทุกพระองค์ล้วนทรงสร้างคุณูปการที่ยิ่งใหญ่ต่อประเทศชาติ
 
 
 
กองทัพบก ได้ดำเนินการจัดสร้าง อุทยานราชภักดิ์ ภายในพื้นที่ของกองทัพบก อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ใช้พื้นที่ก่อสร้างรวมทั้งสิ้น 222 ไร่เศษ โดยได้กำหนดกรอบดำเนินการจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระบูรพกษัตริย์ ทั้ง 7 พระองค์ รวมทั้งการก่อสร้างลานอเนกประสงค์ ตั้งแต่เดือน พ.ย.57-ส.ค.58 รวมระยะเวลา 10 เดือน และการจัดทำนิทรรศการแสดงพระราชประวัติ และพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระบูรพกษัตริย์ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ภายในห้องพิพิธภัณฑ์ โดยจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือน ก.ย.58 เป็นต้นไป
 
องค์ประกอบ ภาพรวมของอุทยานราชภักดิ์ จะมีโครงสร้างหลักที่สำคัญ จำนวน ๓ ส่วนหลัก ประกอบด้วย
 
ส่วนที่ ๑
พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระบูรพกษัตริย์ แห่งสยาม จำนวน ๗ พระองค์ โดยน้อมถวายพระเกียรติแด่พระมหากษัตริย์แต่ละยุคสมัยตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย จนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ ชึ่งพระนามแต่ละพระองค์เป็นที่ประจักษ์แก่ประชาชนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ได้แก่ พ่อขุนรามคำแหงมหาราช สมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระนารายณ์มหาราช สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ใช้พื้นที่ประมาณ ๕ ไร่ โดยรูปแบบของพระบรมราชานุสาวรีย์ จะจัดสร้างในลักษณะพระอิริยาบถทรงยืน ความสูงเฉลี่ยไม่เกิน ๑๓.๙ เมตร หล่อด้วยโลหะสำริดนอก
 
ส่วนที่ ๒
ลานอเนกประสงค์ มีเนื้อที่ประมาณ ๙๑ ไร่ ใช้สำหรับกระทำพิธีที่สำคัญของกองทัพ และรับรองบุคคลสำคัญจากต่างประเทศ
 
ส่วนที่ ๓
อาคารพิพิธภัณฑ์ หรือห้องจัดแสดงนิทรรศการประวัติศาสตร์ โดยการค้นคว้า รวบรวม และจัดทำพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจที่สำคัญของบูรพกษัตริย์ไทย ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ โดยจะดำเนินการจัดสร้างบริเวณด้านล่างของฐานพระบรมราชานุสาวรีย์
 
พื้นที่ส่วนที่เหลือจำนวน ๑๒๖ ไร่ จะเป็นสภาพภูมิทัศน์โดยรอบ และการจัดสร้างระบบสาธารณูปโภคเพื่ออำนวยความสะดวก
 
 
วัตถุประสงค์การจัดสร้าง
 
๑.เพื่อเป็นการเทิดทูนและประกาศเกียรติคุณ สมเด็จพระมหากษัตริย์แห่งสยาม ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ที่ทรงสร้างคุณูปการที่ยิ่งใหญ่ต่อประเทศชาติ อันนำมาสู่ความเจริญรุ่งเรืองและความเป็นปึกแผ่นของชาติไทยตราบจนทุกวันนี้
 
๒.เพื่อใช้เป็นสถานที่สำหรับกระทำพิธีที่สำคัญของกองทัพบก และรับรองบุคคลสำคัญจากต่างประเทศในโอกาสที่มาเยือนกองทัพบกอย่างเป็นทางการ
 
๓.เพื่อใช้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวและแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ สำหรับให้กำลังพลและครอบครัวของกองทัพบก รวมถึงนักเรียนทหาร ตลอดจนประชาชนทั่วไปทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ได้เข้ามาทัศนศึกษาและเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทย ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างจิตสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทย
 
 
ที่มา : อุทยานราชภักดิ์ หัวหิน
www.auttayanratchapak.com
 
ที่มา : กองทัพบก
www.rta.mi.th

 




แหล่งท่องเที่ยวชะอำหัวหิน