google.com, pub-1439861366638942, DIRECT, f08c47fec0942fa0 River Kwai Bridge : สะพานข้ามแม่น้ำแคว กาญจนบุรี
dot dot
River Kwai Bridge : สะพานข้ามแม่น้ำแคว กาญจนบุรี

Kanchanaburi Tourist Attraction, Thailand

River Kwai Bridge Kanchanaburi
สะพานข้ามแม่น้ำแคว กาญจนบุรี
 
สะพานข้ามแม่น้ำแคว เป็นสถานที่ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญยิ่งแห่งหนึ่ง เป็นสะพานที่สำคัญที่สุดของเส้นทางรถไฟสายมรณะ สร้างขึ้นสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยกองทัพญี่ปุ่นได้เกณฑ์เชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตร ได้แก่ ทหารอังกฤษ อเมริกัน ออสเตรเลีย ฮอลันดา และนิวซีแลนด์ประมาณ 61,700 คน และกรรมกรชาวจีน ญวน ชวา มลายู ไทย พม่า อินเดียอีกจำนวนมาก มาก่อสร้างทางรถไฟสายยุทธศาสตร์ เพื่อเป็นเส้นทางผ่านไปสู่ประเทศพม่า
 
ทหารช่างญี่ปุ่นเลือกสร้างสะพานที่บริเวณนี้เนื่องจากมีฐานดินด้านล่างแน่นที่สุด โดยใช้แรงงานเชลยศึกและกรรมกรรับจ้างจำนวนมาก การก่อสร้างเริ่มจากการสร้างสะพานไม้เพื่อลำเลียงคนและอุปกรณ์ก่อสร้างทางรถไฟข้ามไปก่อน โดยสร้างในช่วงที่น้ำลดลงตอนปลายเดือนพ.ย. 2485 โดยใช้ไม้ซุงทั้งต้นตอกเป็นเสาเข็ม ใช้เวลาก่อสร้าง 3 เดือน และได้รื้อออกไปหลังจากสร้างสะพานเหล็กแล้ว (ปัจจุบันแนวสะพานไม้เดิมอยู่ห่างจากสะพานข้ามแม่น้ำแควลงไปทางใต้ประมาณ 100 เมตร ในพิพิธภัณฑ์สงครามโลกครั้งที่ 2)
 
ส่วนสะพานข้ามแม่น้ำแควใช้เวลาสร้างเพียง 1 เดือน โดยนำเหล็กจากมลายูมาประกอบเป็นชิ้นๆ ตอนกลางทำเป็นสะพานเหล็ก11 ช่วง หัวและท้ายเป็นโครงไม้ ตัวสะพานยาวประมาณ 300 เมตร สร้างเสร็จและทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2486 ซึ่งเส้นทางช่วงหนึ่งจะต้องข้ามแม่น้ำแควใหญ่ จึงต้องมีการสร้างสะพานขึ้น การสร้างสะพานและทางรถไฟสายนี้ เต็มไปด้วยความยากลำบาก ความทารุณของสงครามและโรคภัย ตลอดจนการขาดแคลนอาหาร ทำให้เชลยศึกหลายหมื่นคนต้องเสียชีวิตลง ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองสะพานข้ามแม่น้ำแควเดิมได้รับความเสียหาย และรัฐบาลไทยได้ซ่อมแซมใหม่ ภายหลังสงครามสิ้นสุดลง เมื่อปี พ.ศ. 2489 จนสามารถใช้งานได้ดังเดิม ปัจจุบัน มีการยกย่องให้สะพานข้ามแม่น้ำแคว เป็นสัญลักษณ์แห่งสันติภาพ
 
เดิมที สะพานข้ามแม่น้ำแคว ไม่เคยมีจริงในประวัติศาสตร์ แต่เนื่องจากทางอเมริกาได้ทำเป็นหนัง ดังนั้นทางจังหวัดจึงมีความเห็นให้ตั้งชื่อสะพานที่ท่ามะขามให้เป็นสะพานข้ามแม่น้ำแคว เพื่อให้เหมือนในหนัง และได้มีกลุ่มนักท่องเที่ยวมาตามหาจริงๆ สร้างรายได้ให้แก่ท้องถิ่น สะพานเดิมนั้นจะเป็นเหล็กโค้ง ส่วนที่เป็น4เหลี่ยมเป็นการซ่อมแซม สะพานเหล่านี้เดิมทีมีมากมายหลายแห่งในประเทศไทยและลาวพม่าแต่ส่วนใหญ่ทำจากไม้ ในไทยมีที่ทำจากเหล็กไม่ถึง 15 สะพาน
 
สะพานข้ามแม่น้ำแควถูกทหารฝ่ายสัมพันธมิตรโจมตีทางอากาศเป็นครั้งแรกในเดือน พ.ย. 2487 และถูกโจมตีทั้งสิ้นราว 10ครั้งในระหว่างสงคราม จนกระทั่งสะพานช่วงที่ 4-6 ชำรุด และไม่สามารถใช้การได้ ต่อมาการรถไฟแห่งประเทศไทยได้ปรับปรุงขึ้นใหม่จากของเดิม โดยตอนกลางทำเป็นสะพานเหล็กสองช่วง ส่วนด้านหัวและท้ายเปลี่ยนเป็นสะพานเหล็กหกช่วงแทน
 
สะพานข้ามแม่น้ำแคว ตัวสะพานมีความสวยงาม นักท่องเที่ยวนิยมขึ้นไปเดินเล่นตามรางรถไฟบนสะพาน และเมื่อรถไฟแล่นผ่านก็สามารถยืนหลบอยู่ที่จุดพักซึ่งมีอยู่เป็นระยะตลอดสะพาน การรถไฟแห่งประเทศไทยนำมาหัวรถจักรมาตั้งแสดงไว้บริเวณเชิงสะพานข้ามแม่น้ำแคว มีทั้งหัวรถจักรดีเซลแบบติดล้อรถยนต์ไว้สำหรับวิ่งบนถนนซึ่งใช้ในระหว่างการก่อสร้างทางรถไฟ และหัวรถจักรไอน้ำแบบที่ใช้ในการลำเลียงยุทธสัมภาระ
 
ร้านขายของฝากและอัญมณี อยู่บริเวณเชิงสะพานส่วนใหญ่เป็นของพื้น ๆ เช่นเดียวกับสถานที่ท่องเที่ยวทั่วไป แต่ที่มีขายมากคือเครื่องหวาย และงานไม้แกะสลักชิ้นเล็ก ๆ จากพม่า วุ้นเส้น และพลอย แต่ที่เป็นที่ต้องการของนักท่องเที่ยวจำนวนมาก คือ ไพลินหรือพลอยสีน้ำเงิน นิล และบุษราคัมจาก อ. บ่อพลอย
 
จุดขึ้นเรือหางยาวชมแม่น้ำแควน้อย อยู่บริเวณเชิงสะพานข้ามแม่น้ำแควทางด้านเหนือ มีเรือหางยาว (นั่งได้ลำละแปดคน) จอดบริการอยู่เป็นจำนวนมากตลอดทั้งวัน โดยจัดเป็นโปรแกรมทัวร์ในเส้นทางสะพานข้ามแม่น้ำแคว-พิพิธภัณฑ์สงคราม วัดใต้-สุสานช่องไก่-วัดถ้ำเขาปูน-วัดถ้ำมังกรทอง ใช้เวลาประมาณ 2 ชม. (เวลานั่งเรือประมาณ 30 นาที) ราคา 400 บาท
 
ที่สะพานข้ามแม่น้ำแคว มีบริการรถราง Fairmong ทุกวัน โดยวันธรรมดา จะมีตั้งแต่เวลา 08.00-10.30 น., 11.20-14.00 น., 15.00-16.00 น., และ 18.00-18.30 น. วันเสาร์-อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 08.00-09.30 น., 11.20-14.00 น., และ 18.00-18.30 น. ค่าโดยสารคนละ 20 บาท
 
พิพิธภัณฑ์สงครามเชิงสะพานข้ามแม่น้ำแคว ( War Museum ) เป็นสถานที่เก็บรักษาสิ่งที่เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง อันได้แก่ อาวุธ ยุทโธปกรณ์ต่างๆ โครงกระดูกของเชลยศึกสงคราม และภาพถ่ายเหตุการณ์ในสมัยนั้น นอกจากนี้บางส่วนยังจัดทำเป็นหอศิลป์ เก็บรวบรวมสิ่งของต่างๆ เช่น แสตมป์ ไปรษณีย์บัตรโบราณ เพชร พลอย และเครื่องประดับ พิพิธภัณฑ์สงครามเชิงสะพานข้ามแม่น้ำแควอยู่ห่างจากตัวเมืองไปตามทางหลวงหมายเลข 323 ประมาณ 4 กิโลเมตร แยกซ้ายประมาณ 400 เมตร อยู่ติดกับสะพานข้ามแม่น้ำแคว
 
 
ooo  งาน สัปดาห์สะพานข้ามแม่น้ำแคว  ooo
 
งานสัปดาห์สะพานข้ามแม่น้ำแคว จัดในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนถึงต้นเดือนธันวาคมของทุกปี เพื่อรำลึกถึงความสำคัญของการสร้างทางรถไฟสายมรณะ และสะพานข้ามแม่น้ำแคว ซึ่งเป็นเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มีการแสดงนิทรรศการในทางประวัติศาสตร์ และโบราณคดี การแสดงพื้นบ้าน การออกร้านจำหน่ายสินค้าพื้นเมือง และการแสดง แสง สี เสียง บริเวณสะพานข้ามแม่น้ำแคว
 
ชมการแสดงแสง-เสียง ด้วยเทคนิคไฟ แสง-เสียง ที่ยิ่งใหญ่อย่างอลังการ โดยจำลองเหตุการณ์สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 (สงครามมหาเอเชียบูรพา) ที่กองทัพญี่ปุ่นได้เกณฑ์เชลยศึกพันธมิตรมาสร้างทางรถไฟและฝ่ายพันธมิตรได้ส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดทำลายสะพานเพื่อตัดเส้นทางรถไฟที่เดินทางสู่ประเทศพม่า ชมการประกวดนางงามสันติภาพ การจัดการแสดงทางวัฒนธรรม การแสดงคอนเสิร์ตจากศิลปินค่ายต่างๆ
 
 
สอบถามรายละเอียด
สำนักงานจังหวัดกาญจนบุรี โทรศัพท์ : 034-511778 : 034-515208
 
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
สำนักงานกาญจนบุรี โทรศัพท์ : 034-511200 : 0 34-512500
ศูนย์ประสานงาน กรุงเทพฯ  โทรศัพท์ : 02-8627070
 
ที่มา
www.kanchanaburi.go.th
www.th.wikipedia.org

 




แหล่งท่องเที่ยวกาญจนบุรี