google.com, pub-1439861366638942, DIRECT, f08c47fec0942fa0 Jewel City : เมืองอัญมณี
dot dot
Jewel City : เมืองอัญมณี

 

Jewel City : เมืองอัญมณี
 
บ้านจัดสรร ตำบลบ่อพลอย อำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด 23140
ติดต่อสอบถาม : 039-591111
กรณีเข้าชมเป็นหมู่คณะ กรุณาติดต่อล่วงหน้า
 
Jewel City : เมืองอัญมณี บ่อไร่ ตราด
 
เมืองอัญมณี ตั้งอยู่ ในบ้านจัดสรร ในตัวอำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด โดยหากเดินทางไปจากกรุงเทพฯนั้น เมื่อมุ่งเข้าสู่จังหวัดตราด ผ่านศูนย์บริการนักท่องเที่ยวพร้อมกับสัญลักษณ์งอบยักษ์ เป็นซุ้มประตูหน้าเมืองตราด บริเวณนั้นมีด่านตรวจของทหาร-ตำรวจ เรียกว่าบ้านท่าจอด หลังจากนั้นวิ่งตรงไปจะเจอ 3 แยกไฟแดงแยกซ้ายคือแยกแสนตุ้ง ให้เลี้ยวซ้ายเข้าสู่แยกแสนตุ้ง ขับผ่านตลาดแสนตุ้ง ตรงไปประมาณ 1 กิโลเมตร ให้สังเกตุด้านขวา จะมี 3 แยกทางขวามือ ดูป้ายเขียนว่า ไปอำเภอบ่อไร่ ช้างทูน หรือหนองบอน ให้เลี้ยวขวาและวิ่งตรงไปอย่างเดียว ไม่ต้องเลี้ยวแยกใด ระยะทางประมาณ 34 กิโลเมตร จะผ่านที่ว่าการอำเภอบ่อไร่ อยู่ทางด้านขวามือ สังเกตุคือ จะเป็นทางขึ้นเนินพอดี เมื่อผ่านที่ว่าการอำเภอบ่อไร่ จะเป็นทางลงเนิน ให้ชะลอรถ จะมี 3 แยกทางซ้ายมือ ให้เลี้ยวซ้าย และวิ่งตรงไปประมาณ 2 กิโลเมตร เมืองอัญมณี อยู่ทางด้านซ้ายมือ หรือ สามารถเดินทางเข้าสู่ตัวอำเภอบ่อไร่ และมุ่งตรงสู่ บ้านจัดสรร ก็ได้เช่นเดียวกัน
 
ค่าเข้าชม พิพิธภัณฑ์ หุ่นขี้ผึ้ง เมืองอัญมณี
 
       
 ชาวไทย      
ผู้ใหญ่ ราคา 10 บาท
เด็ก ราคา 20 บาท
       
ชาวต่างชาติ      
ผู้ใหญ่ ราคา 15 บาท
เด็ก ราคา 30 บาท
       
 
เมืองอัญมณี เป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงหุ่นขึ้ผึ้งขนาดเท่าตัวบุคคลจริง เพื่อสาธิตการประกอบอาชีพหาพลอย หรือ ขุดพลอย ซึ่งเป็นพลอยแดง "ทับทิมสยาม" ของชาวอำเภอบ่อไร่ในยุครุ่งเรืองอดีต ที่มีทั้งการ เจียระไนพลอย การซื้อขายพลอย ที่ผู้คนหลั่งไหลมาจากทั่วสารทิศ มุ่งสู่ตำบลบ่อพลอย อำเภอบ่อไร่ เพื่อขุดพลอย ทำเหมืองพลอย หรือแม้กระทั่งมาเพื่อค้าขายพลอย
 
จังหวัดตราด จัดเป็นเมืองที่มีการขุดพลอยมาก โดยเฉพาะอำเภอบ่อไร่ ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เชื่อว่ามีการขุดพลอยในอำเภอบ่อไร่ ตั้งแต่สมัยรัชการที่ 2 ชาวบ้านเรียกผู้มาสำรวจหาพลอยในยุคแรกๆว่า "กุหล่า" หรือไทยใหญ่ เล่าต่อกันมาว่า อพยพมาจากทางเหนือเป็นผู้ทำให้ชาวบ้านรู้จักว่าพลอยมีค่ากว่ากรวด ที่อำเภอบ่อไร่จะพบพลอยมากหลังฝนตกหนัก อยู่ตามพื้นดินให้เดินเก็บกันได้ สร้างความร่ำรวยให้กับชาวอำเภอบ่อไร่ ทำให้ชื่อเสียงแพร่หลายไปไกล ผู้คนต่างหลั่งไหลมาอาศัยอยู่ที่อำเภอบ่อไร่ เพื่อจุดประสงค์ที่จะค้นหาพลอย ในช่วงนั้นเรียกว่า "ยุคตื่นพลอย"
 
ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา ตำบลบ่อพลอย อำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด เป็นแหล่งที่มีความเจริญรุ่งเรือง อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติคือ พลอย หรือ ทับทิมสยาม ซึ่งมีจำนวนมาก มีนักแสวงโชคเดินทางเข้ามาขุดพลอย ทำเหมืองพลอย ในตำบลบ่อพลอยเป็นจำนวนมาก การค้าขาย สังคม เศรษฐกิจรุ่งเรืองมาก จนกระทั่ง ประมาณปี พ.ศ. 2540 การขุดพลอย ร่อนพลอย ทำเหมืองพลอยเริ่มซบเซา เนื่องจากพื้นที่เปิดสัมปทานเริ่มหมด ไม่สามารถทำการขุดพลอย ร่อนพลอย หรือทำเหมืองพลอย ทำให้อาชีพขอคนทำพลอยเริ่มเลือนหายไปด้วย
 
ดังนั้น เทศบาลตำบลบ่อพลอยได้ตระหนักถึงความสำคัญของประวัติ ตำนานในการทำเหมืองพลอยของคนตำบลบ่อพลอยจะสูญหายไป จึงได้จัดสร้างพิพิธภัณฑ์ ประวัติและตำนานวิวัฒนาการของการขุดพลอย เพื่อให้เยาวชนรุ่งหลังและประชาชนทั่วไปได้ศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับการขุดพลอย โดยใช้ชื่อพิพิธภัณฑ์นี้ว่า เมืองอัญมณี
 
Jewel City : เมืองอัญมณี บ่อไร่ ตราด
 
 
ห้องที่ 1 การขุดพลอย
ยุคพลอย เริ่มในช่วงปี พ.ศ.2505-2506 แม้จะเสี่ยงกับไข้มาเลเรีย การปล้นชิง ทุกคนต่างดั้นด้นกันมา คนขุดพลอยส่วนมากจะมากันเป็นกลุ่ม ญาติพี่น้อง ทั้งชายหญิง มาปลูกที่เพิงพักอาศัยอยู่ใกล้บ่อขุด ทำตัวเพิงหรือกระต๊อบจากกิ่งไม้ ใบจากและหญ้าคา พอนานเข้าการขยายตัวอยู่เป็นกลุ่ม การขุดพลอยระยะแรกเป็นการขุดด้วยมือ ใช้อุปกรณ์ง่ายๆ เช่น ชะแลง อีเต้ง วิธีการขุดเป็นหลุมลึกตามสายแร่ แล้วตักดินที่ขุดได้นำมาล้างและร่อนในตะแกรงตามลำห้วยที่อยูไม่ไกลจากแหล่งพลอย เพื่อคัดแยกพลอยออกจากดินและก้อนกรวด วิธีการค้นหาพลอยมีหลายวิธี เช่น สังเกตุจากสีของดิน ดูจากขี้พลอย ซึ่งก็คือแร่ไพร็อกซินที่มีสีดำคล้ายนิลตะโก กระจายอยู่ตามพื้นดิน หรืออาจสังเกตุจากเพทาย หรือพลอยน้ำค้าง เรียกว่า ขี้พลอย เมื่อพบร่องรอยดังกล่าว จึงเริ่มลงมือขุดโดยขดหน้าดินทิ้งไปก่อน 2-3 เมตร เพราะเป็นชั้นที่ยังไม่มีพลอย เมื่อขุดต่อไปจนถึงหัวแร่ ต้องขุดเอาหัวแร่ไปร่อนดูก่อน เพราะอาจจะมีพลอยก็ได้ เมื่อขุดลงไปเฉลี่ย 50 เซ็นติเมตร ก็ถึงแร่พลอย หรือทางราชการเรียกว่า แร่รัตนชาติ ถ้าพบขี้พลอยถูกร่อนจึงจะแน่ใจว่ามีพลอย พลอยจะอยู่ในชั้นแร่รัตนชาติ ซึ่งมีความหนา 50-100 เซ็นติเมตร บริเวณใดมีพลอยน้อย คนขุดจะเรียกบริเวณนั้นว่า "พลอยห่าง"
 
ห้องที่ 2 การร่อนพลอย
หลังจากได้ดินที่เป็นแร่รัตนชาติขึ้นมาจึงจะนำมาล้างและร่อนในตะแกรงตามลำห้วยและลำคลอง ที่อยู่ไม่ไกลจากแหล่งพลอย เพื่อแยกพลอยออกจากดินและก้อนกรวด เรียกว่า "ร่อนพลอย" การหาพลอยในตะแกรงต้องค่อยๆกวาดด้วยมือครั้งละน้อยๆ ลักษณะเช่นนี้เรียกว่า "การแยกพลอย"
 
Jewel City : เมืองอัญมณี บ่อไร่ ตราด
 
ห้องที่ 3 การแยกพลอยด้วยมือยุคแรก
ห้องนี้ เป็นการคัดแยกพลอยด้วยมือยุคแรก "การคัดแยกพลอย" ในยุคแรกนั้น การแยกพลอยทำด้วยมือ อันดับแรกก็คือ การแยกกรวดกับพลอยจากกันให้ได้ก่อน เพราะพลอยดิบที่ยังไม่ได้เจียระไน นั้น มองผ่านๆอาจเห็นเป็นแค่ก้อนคล้ายกรวด จากนั้นก็คัดขนาด และสีสัน พลอยเม็ดใหญ่จะเรียกว่า "หัวพลอย" ขายได้ราคาดี ยิ่งถ้าเป็นเม็ดที่เนื้อดี ตำหนิน้อย ก็จะยิ่งได้ราคามาก ส่วนเม็ดเล็กๆเรียกว่า "หางพลอย" ราคาถูก การขายพลอยมีหลายวิธี บางคนก็แยกพลอยเม็ด 2-3 กะรัต ขึ้นไป นำไปขายต่างหาก บางคนขายเป็นเม็ดๆ บางคนก็รวมกันขายเป็นพลอยหมู่ โดยจะมีเม็ดพลอย ประมาณ 2-3 กะรัต หรือโตกว่านั้นเป็นหัวพลอยในหมู่นั้นๆ พลอยมีหลากหลายเกรดมาก พลอยที่มีคุณภาพต่ำและเม็ดเล็ก เขาจะนำไปขายเป็นกิโลกรัม ราคาไม่เท่ากันตามคุณภาพ ขนาดและสีสัน
 
ห้องที่ 4 การแยกพลอยด้วยเครื่อง
ในยุคต่อมา เกิดการขุดพลอยอีกแบบหนึ่งเพื่อให้ได้ปริมาณพลอยที่มากขึ้นและรวดเร็วขึ้น โดยการใช้รถตักดิน ซึ่งจะตักดินชั้นที่ไม่มีพลอยออกไป และขุดเอาชั้นหัวแร่ที่มีพลอยมากองไว้ จากนั้นใช้น้ำท่อใหญ่ฉีดล้างดินออกไป ปล่อยให้ส่วนของกรวดและพลอยไหลตามรางไปลงที่ จิ๊ก หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า "แย็ก" ซึ่งก็คือเครื่องแยกพลอยออกจากกรวด จากนั้นจึงใช้แรงงานคัดพลอยด้วยมือ การขุดพลอยแบบนี้เรียกว่าเหมืองฉีด การทำเหมืองวิธีนี้ทำให้ได้ปริมาณพลอยมาก และมีความแม่นยำในการแยกพลอยสูง เหมืองแบบใหม่นี้ส่งผลให้พลอยแดงที่เคยมีอยู่มากหมดไปอย่างรวดเร็ว
 
ห้องที่ 5 ตลาดพลอย
วงการพลอยเป็นวงการที่เกี่ยวพันกับเงินมหาศาล เป็นความรุ่งเรืองหรือตกอับของชีวิตที่เกิดขึ้นชั่วพริบตา ตลาดค้าพลอยจึงคึกคักและมีเงินสะพัดไม่ขาดสาย การค้าพลอยก็เหมือนการเสี่ยงโชค เพราะไม่มีใครรู้ว่าราคาพลอยที่แท้จริงอยู่ตรงไหน ราคาพลอยขึ้นอยู่กับความพอใจของผู้ซื้อส่วนมาก ผู้ซื้อเป็นผู้กำหนดกฎเกณฑ์ จึงต่างจากเพชรและทองที่ราคาค่อนข้างแน่นอนตายตัว
 
Jewel City : เมืองอัญมณี บ่อไร่ ตราด
 
ห้องที่ 6 การเผาพลอย
การเผาพลอยเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อไรนั้น ไม่ได้มีการบันทึกอย่างเป็นทางการ หากแต่เรื่องเล่ากันมาว่า การเผาพลอยนั้นเกิดขึ้นหลังจากไฟไหม้ใหญ่ที่อำเภอบ่อไร่ ภายหลังเพลิงสงบพบว่าพลอยที่อยู่ในกองขี้เถ้ามีสีสันเปลี่ยนไป พลอยมีสีสดสวยขึ้น ว่ากันว่า นั่นคือบทเริ่มของการเผาพลอย จนถึงปัจจุบันความต้องการของตลาดมีมากขึ้น จนพลอยสุกจากธรรมชาติไม่พอเพียง การเผาพลอยจึงแพร่หลาย และประสบความสำเร็จโด่งดังทั่วโลก
ปัจจุบันการเผาจะใช้เตาแบบพิเศษ ที่ให้ความร้อนประมาณ 1,700-3,000 องศา เผาประมาณหนึ่งวันกับหนึ่งคืน ในพลอยบางชนิดอาจต้องใช้ถึง 3,000 องศา เลยทีเดียว เป็นวิธีการเผาพลอยอันสลับซับซ้อน มีผู้นำปรับปรุงพัฒนาเทคนิคการเผาได้มาก
นอกจากนี้ พลอยแต่ละบ่อ แต่ละสี ยังใช้เทคนิคการเผาที่แตกต่างออกไป และพลอยแต่ละก้อนเผาออกมา ใช่ว่าจะสวยเหมือนกันหมด ผู้เชี่ยวชาญจึงต้องอาศัยภูมิรู้ ประสบการณ์ ที่สั่งสมมา สังเกตุมลทินธาตุ ( Trace Element ) หรือ บางคนเรียก "เชื้อ" ที่อยู่ในเนื้อพลอย ถ้าพลอยมีเชื้อ เผาแล้วจะให้สีสันสดใสแพร่ไปในเนื้อพลอยตลอดเม็ด
 
ห้องที่ 7 การเจียระไนพลอย
การเจียระไน คือการนำพลอยดิบมาขัดตกแต่งให้เกิดเหลี่ยมมุมสวยงาม และดึงความงามของสีสันพลอยออกมา การเจียระไนพลอยมีหลักๆ 2 แบบ คือ
เจียระไนแบบเหลี่ยม การเจียระไนแบบนี้ จะใช้กับพลอยที่มีความใส พลอยเหลี่ยม เจียระไนทั้งเม็ด เมื่อเจียระไนได้สัดส่วน สมมาตรมีความประณีตละเอียด ก็ย่อมจะสะท้อนแสงออกมาระยิบระยับ
และการเจียระไนอีกแบบคือ เจียระไนแบบหลังเบี้ย มักจะใช้กับพลอยที่มีความทึบแสง หรือพลอยแตกร้าวมาก รูปทรงของเม็ดพลอยควรโค้งนูนงาม ได้สัดส่วน ไม่แบนราบจนเกินไป
 
 
Jewel City : เมืองอัญมณี บ่อไร่ ตราด
 
ทับทิม หรือ ภาษาอังกฤษเรียกว่า Ruby คือ แร่รัตนชาติชนิดหนึ่ง ที่เราเรียกว่า พลอย ซึ่งมีหลากหลายสีสัน โดยพบมากในจังหวัดตราดและจันทบุรี แร่รัตนชาติที่ค้นพบจะมีพลอยสีต่างๆ เช่น แดง ชมพู ม่วง เขียวไพลิน โกเมน และเพทาย ทับทิมสยามก็คือ พลอยสีแดงเข้ม หรือสีแดงเลือดนก ที่พบในประเทศไทย จัดได้ว่ามีคุณภาพสูง เป็นที่ต้องการของตลาด จึงทำให้มีราคาแพง ถ้าเม็ดไหนเนื้อสวย ตำหนิน้อย ราคาอาจเท่ากับเพชรหรือสูงกว่า ในต่างประเทศถึงกับยกย่องทับทิมสยามว่าเป็น King Ruby หรือ ราชาแห่งอัญมณี
 
พิพิธภัณฑ์ หุ่นขี้ผึ้ง เมืองอัญมณี เปิดให้เข้าชมทุกวัน  ยกเว้น วันจันทร์
วันอังคาร-วันศุกร์   เปิดให้เข้าชม เวลา   09.30-16.00   น.
วันเสาร์-วันอาทิตย์  เปิดให้เข้าชม เวลา   09.30-17.00   น.

 




แหล่งท่องเที่ยวตราด